ผักไฮโดรโปนิกส์
Source: https://medthai.com/ผักไฮโดรโปนิกส์/
ไฮโดรโปนิกส์ (hydroponics) หรือ ผักไฮโดรโปนิกส์ คือ การปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน หรือเป็นการปลูกพืชผักในน้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่ หรือเป็นการปลูกพืชในสารละลายธาตุอาหารพืช และอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผักไร้ดิน” ก็ได้ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการใหม่ในการปลูกพืชที่กำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะการปลูกพืชผักที่เราใช้เป็นอาหาร เนื่องจากการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์จะช่วยประหยัดพื้นที่ในการปลูกและไม่ปนเปื้อนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ ในดิน ทำให้ได้พืชผักที่มีความสะอาดเป็นอาหาร
ในอดีตตัวอย่างของความพยายามในช่วงแรก ๆ ที่จะปลูกพืชไร้ดินก็คือ สวนลอยบิบาโลน (ราว 600 ปีก่อนครีสตกาล) และสวนลอยแห่งอัสเต็กซ์ (คริสต์ศตวรรษที่ 11) ส่วนนักวิจัยการปลูกปลูกพืชไร้ดินคนแรก ๆ ก็คือ ชาวอังกฤษที่ชื่อ จอห์น วูดเวิด (John Woodward) เมื่อปี ค.ศ.1700 เขาได้ทดลองปลูกพืชในน้ำ โดยได้เติมดินลงไปหลายชนิด ซึ่งการปลูกครั้งนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่านอกจากน้ำแล้วยังมีสารอื่น ๆ ที่พืชต้องการ และเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักสรีรวิทยาพืชชาวเยอรมัน ชื่อซาคส์ (Sachs) และคนอพ (Knop) ได้ทำการปลูกพืชในสารละลายอย่างง่ายของเกลืออนินทรีย์ ส่วนศาสตราจารย์ Gericke แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และเมื่อปี ค.ศ.1929 เขาได้แสดงให้เห็นว่าพืชสามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องใช้ดิน และสามารถเจริญเติบโตไปได้จนเต็มที่ โดยเขาได้ทำการปลูกมะเขือเทศในน้ำจนได้ผลขนาดใหญ่อย่างน่าแปลกใจ และเขาได้ทำการเทียบคำศัพท์ในภาษากรีก ที่มีความหมายว่า “การเกษตร” คือ geoponics ที่หมายถึง ศาสตร์แห่งการปลูกพืชโดยใช้ดิน ด้วยเหตุนี้เขาจึงคิดคำใหม่ว่า “ไฮโดรโปนิกส์” (hydroponics) ที่หมายถึง การปลูกพืชในน้ำ ซึ่งมาจากภาษากรีกคำว่า hydros ที่แปลว่าน้ำ และ ponos ที่แปลว่างาน ซึ่งเมื่อนำมารวมกันจะมีความหมายว่า “การทำงานที่เกี่ยวกับน้ำ”
ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า “ไฮโดรโปนิกส์” (hydroponics) มาจากการผสมคำระหว่างคำ 3 คำ คือ ไฮโดร (hydro) ที่แปลว่าน้ำ, โปโนส (ponos) ซึ่งเป็นภาษากรีกที่แปลว่าการทำงาน, และคำว่า อิกส์ (ics) ที่แปลว่าศาสตร์หรือศิลปะ เมื่อรวม 3 คำเข้าด้วยกันจึงมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า “ศาสตร์หรือศิลปะว่าด้วยการทำงานของน้ำ”
ในปัจจุบันก็มีเทคนิคการปลูกผักแบบไร้ดินกันหลากหลายรูปแบบด้วยกัน มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการปลูกพืชในน้ำเท่านั้น เพราะบางกรณีจะมีการใช้วัสดุปลูกทดแทนดินทั้งหมดและรดด้วยสารละลายธาตุอาหารพืช หรือที่เรียกกันว่า ซับส์เทรต คัลเจอร์ (substrate culture) หรือมีเดีย คัลเจอร์ (media culture) หรือแอกกรีเกตไฮโดรโปนิกส์ (aggregate hydroponics) จากเทคนิคดังกล่าวจึงนิยมเรียกว่า “การปลูกพืชไร้ดิน” หรือ “การปลูกโดยไม่ใช้ดิน” (soilless culture) ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการปลูกพืชในน้ำก็ดี หรือการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์รูปแบบอื่น ๆ ก็ดี บางครั้งก็อาจจะเรียกรวมว่า ๆ “soilless culture” แทนคำว่า “hydroponics” ก็ได้ครับ
การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ กับการปลูกผักออแกนิก (การปลูกผักแบบธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติเป็นหลัก) ถ้ามองผิวเผินแล้วจะคิดว่าการปลูกพืชทั้งสองวิธีนี้มีความแตกต่างกันมาก และอาจมองว่าการปลูกผักแบบไร้ไม่เป็นการปลูกผักแบบธรรมชาติ แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งแล้วเราก็จะทราบว่าการปลูกผักทั้งสองวิธีนี้คือการปลูกแบบธรรมชาติเหมือนกัน เนื่องจากปุ๋ยธรรมชาติหรือปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหลายเริ่มแรกพืชจะยังนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะจะต้องถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินจนกลายเป็นสารอนินทรีย์ก่อนพืชถึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ในระบบไฮโดรโปนิกส์เราจะให้สารละลายธาตุอาหารที่เตรียมขึ้นจากปุ๋ยอนินทรีย์บริสุทธิ์แทน รากและขนอ่อนก็จะดูดธาตุอาหารและน้ำได้ไม่ว่าจะจากดินหรือจากระบบไฮโดรโปนิกส์ในลักษณะที่เหมือนกัน สรุปก็คือ การปลูกพืชไร้ดินเป็นการปลูกแบบเป็นธรรมชาติเหมือนกับการปลูกบนดิน เพียงแต่เป็นการปลูกพืชที่ใช้เทคโนโลยีที่มีการจัดการที่ดีกว่า
ประโยชน์ของระบบไฮโดรโปนิกส์
- ข้อดีที่เป็นจุดแข็งของผักชนิดนี้ก็การได้ผลผลิตที่สะอาดกว่าการปลูกในดิน ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ผักที่ได้มีความสวยงามน่ารับประทาน ผักมีรสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และผักสดที่ได้จะมีความนุ่มและกรอบกว่าผักที่ปลูกในดิน
- การปลูกผักแบบไฮโดรไปนิกส์ไม่ต้องใช้ดินในการเพาะปลูก จึงสามารถปลูกได้ทุกที่ ปลูกได้ทั้งพืชขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่ปลูกน้อย (เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์) และไม่มีขอบเขตไม่ว่าจะเป็นการปลูกในจำนวนน้อยเพื่อใช้บริโภคเองภายในครัวเรือนหรือปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ในเชิงธุรกิจ ด้วยเหตุนี้เองวิธีนี้จึงเป็นที่นิยมในการปลูกเป็นอย่างมากในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เนเธอแลนด์ เป็นต้น
- ช่วยทำให้มีสิ่งแวดล้อมในการปลูกที่เราสามารถควบคุมเองได้มากขึ้นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช เพราะเราสามารถกำจัดตัวแปรต่าง ๆ ที่ไม่ทราบออกไปจากการทดลองได้จำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกผักบนดิน
- การปลูกผักรูปแบบนี้สามารถนำมาใช้ได้กับพืชหลายชนิด (ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการปลูกด้วย) ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ รวมไปถึงพืชไม้เลื้อยไปจนถึงพืชยืนต้น แต่ในด้านการผลิตเชิงธุรกิจแล้ว จะนิยมปลูกพืชจำพวกผักและไม้ผล ซึ่งเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวช่วงอายุสั้นกันมากกว่า
- พืชผักเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้เร็วกว่าการปลูกพืชผักในดินอย่างน้อยประมาณ 1-2 สัปดาห์
- ผลผลิตที่ได้จะมีคุณภาพและมีความสม่ำเสมอมากกว่าการเพาะปลูกในดินปกติ เพราะสามารถจัดการและควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมต่อพืชที่ปลูกได้ จึงสามารถผลิตพืชได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพราะสามารถเพิ่มรอบการผลิตได้มาก มีอายุสั้น และได้คุณภาพสูง
- ระบบการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์จะช่วยประหยัดน้ำมากกว่าการปลูกพืชผักในดินปกติไม่น้อยกว่า 10 เท่า จึงทำให้สามารถปลูกพืชผักได้แม้ในฤดูแล้งหรือนอกฤดูกาลได้ และยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอีกด้วย
- การปลูกผักประเภทนี้จะมีความสม่ำเสมอของการให้น้ำได้ดีกว่าการปลูกพืชผักในดินปกติ และยังสามารถควบคุมการให้น้ำได้ตามความต้องการของพืชได้ด้วย
- เราสามารถควบคุมการให้ธาตุอาหารของพืชผักได้ง่ายกว่าการปลูกพืชผักในดิน เพราะช่วยแก้ปัญหาความไม่สม่ำเสมอของธาตุอาหารในดินที่เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน ช่วยควบคุมปริมาณและรูปของจุลธาตุที่พืชผักต้องการจำนวน 7 ธาตุ (ธาตุเหล็ก, โบรอน, คลอรีน, แมงกานีส, โมลิบดีนัม, ทองแดง, สังกะสี) ให้อยู่รูปที่รากของพืชผักสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้และไม่ให้ในปริมาณที่มากเกินไปจนเป็นพิษต่อพืชผักที่ปลูก ช่วยควบคุมค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ได้ง่าย ซึ่งค่า pH นี้เองที่มีส่วนในการควบคุมรูปของธาตุอาหารให้อยู่ในรูปแบบที่พืชผักสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที อีกทั้งวิธีการนี้ยังช่วยให้ธาตุอาหารของพืชไม่สูญหาย ทั้งในรูปแบบการถูกชะล้างไปจากดิน การจับตัวกับธาตุบางชนิดในดินที่ตกตะกอนไป หรือการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปแบบที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมผลตกค้างองการมีธาตุอาหารสะสมในพืช ในดิน และในสภาพแวดล้อมจนเกิดเป็นพิษต่อระบบนิเวศ
- การปลูกพืชผักแบบไฮโดรโปนิกส์สามารถควบคุมโรคในดินได้ง่ายกว่าการปลูกพืชผักในดิน
- เนื่องจากเป็นการปลูกพืชผักโดยไม่ใช้ดิน จึงทำให้พืชไม่มีโรคที่เกิดในดิน ไม่มีวัชพืชมารบกวน ไม่ต้องทำการจัดการดิน และยังสามารถปลูกพืชผักใกล้กันมากได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์มีผลผลิตที่มากกว่าเดิมในพื้นที่จำกัด
- หมดปัญหาเรื่องสภาพดินในการที่ไม่มีความเหมาะสม เช่น ดินเค็ม ดินเป็นกรดหรือด่าง รวมไปถึงสภาพการขาดแคลนน้ำต่าง ๆ
- การจัดการลดปริมาณของไนเตรทในพืชที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินจะทำได้ง่ายกว่าพืชที่ปลูกบนดิน เพราะเราสามารถกำหนดใช้ความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารที่ปลูกเลี้ยงได้ระดับต่ำ หรือเลือกใช้สารละลายธาตุอาหารที่มีความเข้มข้นต่ำมาก นอกจากนี้การลดไนเตรทยังทำได้ด้วยการให้พืชได้รับแสงเพียงพอและอย่าให้พืชขาดโมลิบดีนัม (พืชผักที่มีไนเตรทสูง เมื่อนำมาบริโภคจะเกิดโทษต่อร่างกาย เพราะไนเตรทเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นไนไตรท์ ซึ่งสามารถยับยั้งการพาออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกายของเม็ดเลือดแดงได้ ทำให้เกิดอาการขาดอากาศเฉียบพลัน และยังสามารถไปรวมกับสารประกอบอะมีนในร่างกาย และกลายเป็นไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งได้)
- การปลูกผักแบบไร้ดินก็มีประโยชน์ในด้านภูมิทัศน์เช่นกัน เพราะเราสามารถผลิตพืชสวนประดับเพื่อใช้ประดับอาคารได้
- ช่วยในการประหยัดต้นทุนต่าง ๆ เช่น ค่าแรงงาน เนื่องจากการปลูกผักในระบบนี้จะเป็นระบบที่ไม่ต้องมีการเตรียมแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่เหมือนการปลูกพืชผักในดิน จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องการเตรียมดิน การยกร่อง ค่าปุ๋ย รวมไปถึงค่ากำจัดวัชพืชต่าง ๆ และช่วยลดการนำเข้าของผักและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดค่าขนส่งได้อีกด้วย เพราะเราสามารถเลือกผลิตใกล้แหล่งรับซื้อได้ จึงทำให้มีศักยภาพในเชิงการค้าสูง
- สามารถสร้างอาชีพทำรายได้ให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจ และผู้ด้อยโอกาสทางร่างกายได้ เช่น ผู้พิการโดยกำเนิด ทหารผ่านศึกที่ได้รับความพิการจากการสู้รบ เป็นต้น
- ในด้านประโยชน์อย่างอื่น เช่น มีประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการนันทนาการในครอบครัว เพราะการปลูกผักไว้เพื่อบริโภคภายในครอบครัวก็ช่วยทำให้เกิดความเพลินเพลินใจและทำให้รู้หลักการปลูกพืชในเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี และการปลูกพืชไร้ดินยังมีประโยชน์ในด้านการศึกษาอีกด้วย เช่น การศึกษาทดลองของนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจ เป็นต้น
- ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เนื่องจากเราสามารถควบคุมอุณหภูมิของสารอาหารและจัดการผลิตพืชผักเมืองหนาวที่เป็นคุ้นเคยของชาวต่างชาติได้ มันจึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานได้บริโภคพืชผักที่ตนคุ้นเคย
- การปลูกพืชผักไร้ดินกับโครงการอวกาศ จะทำให้ยานอวกาศหรือสถานีอวกาศสามารถปลูกพืชผักไรดินได้เอง และการปลูกพืชผักไร้ดินไม่เพียงแต่จะก่อประโยชน์กับชีวิตและความเป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในอนาคตเป็นอย่างมาก
ข้อเสียของระบบไฮโดรโปนิกส์
- การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์จะมีต้นทุนการผลิตเริ่มต้นค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ในการเพาะปลูกต่าง ๆ มากมายและมีราคาแพง แต่มีศักยภาพในการคืนทุนเร็ว (ในปัจจุบันเราสามารถหาซื้อชุดปลูกผักสำเร็จรูปได้ในแบบราคาย่อมเยา หรือจะศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำเองก็ได้)
- ผู้ปลูกต้องมีความชำนาญและมีประสบการณ์มากพอสมควรในการควบคุมดูแล เพราะถ้าไม่มีความรู้หรือไม่มีความสามารถในการจัดการที่ดีพอก็อาจทำให้พืชผักที่ปลูกมีปริมาณธาตุอาหารในพืชสูงได้
- ผู้ปลูกจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของสรีรวิทยาของชนิดพืชที่จะปลูก รวมไปถึงพื้นฐานทางเคมีและธาตุอาหารที่พืชต้องการ
- การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ต้องมีการควบคุมดูแลอย่างสม่ำเสมอ
- วัสดุที่ใช้ในการเพาะปลูกบางอย่างจะเน่าเปื่อยหรือสลายตัวได้ยาก ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมได้ ถ้าหากไม่มีการจัดการที่ดีพอ
- มีข้อจำกัดของชนิดพืชที่ปลูกมีค่อนข้างสูง ทำให้การเลือกพืชที่จะเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์จะต้องมีการศึกษาตลาดอย่างถี่ถ้วน และควรเป็นพืชที่แตกต่างจากพืชที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปบนดิน
- นอกจากนี้ในบริเวณที่จะติดตั้งระบบไฮโดรโปนิกส์ จะต้องมีระบบไฟฟ้าและระบบน้ำที่พร้อม เนื่องจากเป็นพื้นฐานของการติดตั้งระบบการปลูกด้วยวิธีนี้
ประโยชน์ของผักไฮโดรโปนิกส์
- ผักไฮโดรโปนิกส์เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย
- มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูง เนื่องจากการปลูกผักไร้ดินเป็นการนำสารละลายธาตุอาหารมาละลาย โดยใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการพืช เช่นเดียวกับการปลูกพืชบนดิน แต่ต่างกันตรงที่ผักที่ปลูกในดินจะต้องอาศัยจุลินทรีย์มาเปลี่ยนเป็นอาหาร ทำให้บางครั้งหากในดินมีธาตุโลหะหนักที่เป็นพิษต่อผู้บริโภค จุลินทรีย์ก็จะเปลี่ยนให้พืชสามารถดูดธาตุที่เป็นพิษเข้าไปได้ ในขณะที่การปลูกพืชไร้ดิน จะสามารถควบคุมแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ ผู้บริโภคจึงได้รับประทานผักสดสะอาดที่มีความปลอดภัยสูง
- ข้อดีของการบริโภคผักไฮโดรโปนิกส์ คือ การคงคุณประโยชน์ที่โดดเด่นที่สุดของผักเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ เช่น กากใยอาหาร ที่เป็นตัวช่วยในการล้างผนังลำไส้และเป็นตัวช่วยในการขับถ่าย
- มีการรับรองว่าพืชผักไร้ดินจะมีปริมาณแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์เท่ากับพืชผักที่ปลูกบนดินหรือสูงกว่าเล็กน้อย แต่พืชผักไร้ดินจะมีกลิ่นที่มาจากน้ำมันหอมระเหยและมีรสชาติน่าชวนชิมมากกว่าพืชผักที่ปลูกบนดิน
- ผักไฮโดรโปนิกส์ที่นิยมส่วนใหญ่จะเป็นผักสลัดที่นำมารับประทานสด เช่น ผักกรีนคอส (Green Cos) เป็นผักที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง นอกจากจะใช้เป็นส่วนประกอบในสลัดแล้ว ยังนิยมนำไปผัดน้ำมันอีกด้วย, ผักกรีนโอ๊ค (Green Oak) หรือ ผักเรดโอ๊ค (Red Oak) เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี โฟเลท และธาตุเหล็ก, ผักเรดคอรัล (Red Coral) เป็นผักที่อุดมไปด้วยใยอาหาร โฟเลท สารต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงเบต้าแคโรทีน, ผักบัตเตอร์เฮด (Butterhead) เป็นผักที่อุดมไปด้วยโฟเลทและสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
ความปลอดภัยของผักไฮโดรโปนิกส์
ความปลอดภัยในการบริโภคผักไฮโดรโพนิกส์ เป็นสิ่งที่ถูกถามกันมามากคำถามหนึ่ง ด้วยความกังวลที่ว่าผักชนิดนี้ต้องแช่ในสารละลายธาตุอาหารที่เป็นสารเคมีอย่างหนึ่ง เมื่อบริโภคเข้าไปอาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูดกินอาหารทางรากในรูปของแร่ธาตุที่อยู่ในรูปของอิออนหรือประจุเท่านั้น แม้ว่าเราจะปลูกพืชลงในดินแล้วทำการให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชจนกว่าจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินจนกระทั้งกลายเป็นแร่ธาตุที่อยู่ในลักษณะของเคมีธาตุอาหารพืช แล้วละลายอยู่ในน้ำในดิน จากนั้นพืชจึงดูดซึมไปใช้งานได้
สรุปแล้วก็คือ ไม่ว่าเราจะปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์หรือปลูกพืชในดิน พืชก็จะต้องดูดใช้อาหารในรูปของประจุของแร่ธาตุ ซึ่งก็เรียกว่าเป็น “เคมี” เช่นกัน โดยพืชจะนำเอาแร่ธาตุต่าง ๆ ไปใช้ในการสร้างสารประกอบอินทรีย์โมเลกุลใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ โปรตีน แป้ง ไขมัน หรือวิตามินต่าง ๆ ให้มนุษย์นำมาบริโภคอีกที ดังนั้น ถ้าคุณไม่กังวลว่าจะรับประทานผักที่ปลูกบนดินด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คุณก็ไม่ควรที่จะกังวลกับการบริโภคผักที่ปลูกในสารละลายหรือผักไฮโดรโปนิกส์เช่นกัน
ส่วนเรื่องการสะสมของไนเตรทที่เป็นอนุมูลของไนโตรเจนนั้น ที่พืชต้องการนำไปใช้มากในช่วงการพัฒนาด้านลำต้น กิ่ง หรือใบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกรูปแบบใดก็จะต้องพบว่ามีไนเตรทอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้ามีไม่เกิน 2,500-3,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัมน้ำหนักสดของผัก ก็ถือว่าเป็นผักที่ปลอดภัยครับ และในประเทศไทยเราเองก็มีแสงแดดค่อนข้างจัด พืชจึงมีการสังเคราะห์แสงค่อนข้างสูง ทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงไนเตรทในต้นพืชกลายเป็นกรดอะมิโนกลูตาเมทเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว ส่งผลให้มีปริมาณของไนเตรทลดลง อีกทั้งการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ก็สามารถลดไนเตรทก่อนการเก็บเกี่ยวได้ง่าย โดยการงดให้ธาตุอาหารหรือเลี้ยงพืชในอัตรา EC ต่ำกว่า 1.0 ประมาณ 1-3 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวพืชก็จะสามารถช่วยลดปริมาณของไนเตรทได้
คำแนะนำสำหรับบางท่านที่อาจมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสารตกค้างที่มีอยู่ในผักไฮโดรโปนิกส์ วิธีการรับประทานผักไฮโดรไปนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นผักที่หาซื้อมาจากตลาดหรือปลูกได้เองจากแปลง ก่อนนำมาบริโภคให้นำผักไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ผักจะอิ่มตัว และคายสารที่ตกค้างออกมาทั้งหมด ทำให้สามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย